ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: โรคพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis)  (อ่าน 444 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 433
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: โรคพยาธิแส้ม้า (Trichuriasis) 

โรคพยาธิแส้ม้า เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิแส้ม้า* ที่ปนเปื้อนมากับผัก อาหาร น้ำดื่ม หรือนิ้วมือ พบได้ในทุกอายุ แต่พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และพบทางภาคใต้มากกว่าภาคอื่น ๆ เป็นพยาธิที่พบได้น้อยกว่าพยาธิตัวกลมชนิดอื่น ๆ
 

*วงจรชีวิตของพยาธิแส้ม้า

พยาธิแส้ม้า (whip worm/Trichuris trichiura) เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง พยาธิตัวเต็มวัย (ตัวแก่) มีลักษณะคล้ายแส้ม้า ยาวประมาณ 3-5 ซม. อาศัยอยู่ในกระพุ้งไส้ใหญ่ (cecum) และลำไส้ใหญ่ ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระลงอยู่ตามพื้นดิน (ประมาณวันละ 3,000-20,000 ฟอง) ไข่จะเจริญเติบโตจนมีตัวอ่อนอยู่ในไข่ (ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-30 วัน) เมื่อคนกลืนไข่พยาธิที่ปนเปื้อนมากับผัก ผลไม้ อาหาร น้ำดื่ม หรือนิ้วมือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ชอบเล่นตามดินทราย อาจมีไข่พยาธิติดเปื้อนมือได้) เข้าไป เปลือกไข่จะถูกย่อยปล่อยพยาธิตัวอ่อนออกมา แล้วเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยอาศัยอยู่ในกระพุ้งไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ต่อไป

สาเหตุ

การติดต่อของโรคนี้เกิดจากการกลืนไข่พยาธิที่ปนเปื้อนมากับผัก อาหาร น้ำดื่ม หรือนิ้วมือเข้าไป


อาการ

ส่วนมากไม่มีอาการแสดงอะไร

ในรายที่มีพยาธิจำนวนมาก อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด อาจมีอาการซีด อ่อนเพลีย น้ำหนักลด


ภาวะแทรกซ้อน

ในเด็กบางคนที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการเบ่งถ่ายอุจจาระจนทำให้ทวารหนักโผล่ออกมาข้างนอก เห็นเป็นก้อนเนื้อแดง

อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางเนื่องจากการถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรัง

ในเด็กที่เป็นโรคนี้เรื้อรัง อาจทำให้ร่างกายขาดธาตุเหล็ก วิตามินและสารอาหารอื่น ๆ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตช้า สติปัญญาพร่อง น้ำหนักลด

นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดลำไส้ใหญ่อักเสบ หรือไส้ติ่งอักเสบได้


การวินิจฉัย

การวินิจฉัยที่แน่ชัด คือการตรวจพบไข่พยาธิในอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้กินยาฆ่าพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล, อัลเบนดาโซล เป็นต้น

และให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบำรุงโลหิตในรายที่มีภาวะโลหิตจาง เป็นต้น


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายเป็นมูกเลือดบ่อย, เด็กมีอาการทวารหนักโผล่ หรือมีอาการอ่อนเพลีย และหน้าตาซีดเซียว ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิแส้ม้า ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
    มีอาการปวดท้องรุนแรง หรือเบ่งถ่ายจนทวารหนักโผล่
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

    ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายอุจจาระลงพื้นดินหรือแม่น้ำลำคลอง
    ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ก่อนเตรียมอาหารและกินอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กควรกวดขันให้ล้างมือก่อนกินอาหาร และหลังกลับจากการเล่นที่สนามนอกบ้าน เนื่องเพราะเด็กมักเผลอดูดนิ้วมือเล่น ซึ่งอาจมีไข่พยาธิปนเปื้อนได้
    ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานทุกครั้ง ถ้าไม่มั่นใจควรกินผักที่ปรุงสุก และกินผลไม้ที่ปอกเปลือก
    ดื่มน้ำสุกหรือน้ำสะอาด และกินอาหารที่ปรุงสุกและร้อน


ข้อแนะนำ

เด็กที่มีอาการเบ่งถ่ายอุจจาระจนทวารหนักโผล่ หรือมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการช้า หรือน้ำหนักน้อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด อาจมีสาเหตุจากโรคพยาธิแส้ม้าหรืออื่น ๆ ได้