ติดต่อลงโฆษณา racingweb@gmail.com

ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจสุขภาพ: โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Ischemic heart disease) โรคหั  (อ่าน 79 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 441
    • ดูรายละเอียด
ตรวจสุขภาพ: โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Ischemic heart disease) โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (Angina pectoris)

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ในรายที่สงสัยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเพียงชั่วขณะ เป็นบางครั้งบางคราว) แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography/ECG/EKG) ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ (ดูว่าเป็นเบาหวาน มีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ หรือไม่)

ในกรณีที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจบอกผลได้ไม่ชัดเจน* อาจจำเป็นต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจซ้ำ หรือทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) โดยการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน การถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) การถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography) เป็นต้น

การรักษา แพทย์จะให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจกลุ่มไนเทรต เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ได้แก่ ไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) หรือไอโซซอร์ไบด์ (isosorbide) อมใต้ลิ้นทันทีเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบตุบ ๆ ที่ขมับคล้ายไมเกรน เนื่องจากหลอดเลือดที่ขมับขยายตัว บางรายอาจมีอาการเป็นลมขณะลุกขึ้นยืน ดังนั้นเวลาจะอมยากลุ่มนี้ ควรนั่งลงเสียก่อนอย่าอยู่ในท่ายืน

นอกจากนี้ อาจให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดออกฤทธิ์นาน เช่น ไอโซซอร์ไบด์ (isosorbide) ไดไพริดาโมล (dipyridamole) เพนตาอีริไทรทอล (pentaerythritol) เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการ

ผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะให้ยาต้านเกล็ดเลือด ได้แก่ แอสไพริน ขนาด 81-325 มก. วันละครั้ง เพื่อไม่ให้เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเกาะที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ถ้าแพ้แอสไพรินหรือมีข้อห้ามใช้ยานี้อาจให้ไทโคลพิดีน (ticlopidine) 250 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือโคลพิโดเกรล (clopidogrel) 75 มก. วันละครั้ง

บางครั้งอาจต้องให้ยาปิดกั้นบีตา ยาต้านแคลเซียม หรือยาต้านเอซ ซึ่งสามารถลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และป้องกันการเสียชีวิตได้

ถ้าผู้ป่วยมีโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ต้องให้ยารักษาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย

ในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อย หรือใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะทำการสวนหัวใจและฉีดสีถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ (cardiac catheterization and  angiogram) ถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่ง ก็จะทำการแก้ไขโดยการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (นิยมเรียกว่า การทำบอลลูน)** และใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) คาไว้ในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน

ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง) ของหลอดเลือดหัวใจ (นิยมเรียกว่า การผ่าตัดบายพาส)*** วิธีนี้มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือไม่สามารถทำบอลลูนหรือทำบอลลูนไม่ได้ผล

2. ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ๆ ถึงเป็นวัน ๆ มีภาวะหัวใจวาย ช็อกหรือหมดสติ หรือมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงและบ่อยขึ้นกว่าเดิม หรือมีอาการเจ็บหน้าอกขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อย

แพทย์จะทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือด (มักพบระดับ creatine kinase-MB และ troponin ในเลือดสูงกว่าปกติในผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน) และตรวจพิเศษอื่น ๆ ถ้าพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ (unstable angina) ก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล

การรักษา ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แพทย์จะให้แอสไพรินเคี้ยวก่อนกลืน (ถ้ายังไม่ได้รับมาก่อน ซึ่งจะช่วยลดขนาดของลิ่มเลือดที่อุดตัน ช่วยให้รอดชีวิตได้) ให้ยาปิดกั้นบีตา (เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดการทำงานของหัวใจ ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายมากขึ้น) ให้ยาต้านเอซ (เพื่อลดการพองตัวของหัวใจ รักษาภาวะหัวใจวาย ช่วยลดการตายลงได้) ฉีดมอร์ฟีนระงับปวด และให้ออกซิเจน

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาขั้นต่อไป คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolytic  agent ได้แก่ ทีพีเอ (tPA/recombinant tissuetype plasminogen activator) หรือสเตรปโตไคเนส (streptokinase) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ) หรือไม่ก็อาจพิจารณาทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน

บางกรณี แพทย์อาจให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม ได้แก่ เฮพารินชนิดน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (low molecular weight heparin/LMWH) เสริมในรายที่ให้ทีพีเอ (tPA) หรือทำบอลลูน

ใน 2-3 วันแรก ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนพักอยู่บนเตียง (ห้ามลงจากเตียง) ผู้ป่วยต้องงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด แพทย์จะให้ยาระบายเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเบ่งถ่ายอุจจาระเพราะท้องผูก ให้ยาจิตประสาทเพื่อควบคุมภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า โดยทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 5-7 วัน เมื่ออาการทุเลาดีแล้ว ก็จะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง และให้ยารักษาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะอย่างต่อเนื่องต่อไป

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้ยาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดทั่วไป รวมทั้งให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (ได้แก่ เฮพาริน) และยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน ไทโคลพิดีน หรือโคลพิโดเกรล) ให้ยาปิดกั้นบีตา และให้ไนโตรกลีเซอรีนชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการทำงานของหัวใจ ถ้าไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา ก็จะทำการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาส

ผลการรักษา ขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพของผู้ป่วย โรคที่พบร่วม และวิธีรักษา

ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง มักได้ผลการรักษาที่ดี การใช้แอสไพรินสามารถป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และลดการตายลงได้ ส่วนการทำบอลลูนและการผ่าตัดบายพาส ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่สู้ดี ได้แก่ ผู้ป่วยอายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น หัวใจวาย)

ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่คงที่ ถ้าเริ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน หรือมีความล่าช้าในการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและการบำบัดที่เหมาะสม ผลการรักษามักจะไม่ดี

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ถ้าเป็นรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายปริมาณมาก ก็มักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใด ในรายที่สามารถมีชีวิตรอดได้ 2-3 วันหลังเกิดอาการก็มักจะฟื้นตัวจนเป็นปกติได้ ซึ่งบางรายอาจกำเริบซ้ำและเสียชีวิตภายใน 3-4 เดือนถึง 1 ปีต่อมา  ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่อง เช่น เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจวาย มักพบอัตราตายและการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว ร่วมด้วย

ส่วนในรายที่ได้รับการทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาส มักจะฟื้นสภาพได้ดี และมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้น แต่บางรายก็อาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบตันซ้ำ ซึ่งอาจต้องทำบอลลูนหรือผ่าตัดบายพาสซ้ำ

*การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจมีความไวในการวินิจฉัยโรคนี้ประมาณร้อยละ 50-75 หมายความว่า ประมาณร้อยละ 50-75 ของผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะบอกว่าผิดปกติ และประมาณร้อยละ 25-50 ผลการตรวจจะบอกว่าปกติ เรียกว่า ผลลบลวง (false negative) อาจทำให้วินิจฉัยผิดได้

**การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน (percutaneous transluminal coronary angioplasty/PTCA) แพทย์จะใช้สายที่มีบอลลูน (balloon) อยู่ตรงปลาย สอดใส่เข้าหลอดเลือดแดงต้นขา (femoral artery) แล้วแยงขึ้นไปจนเข้าไปตรงบริเวณหลอดเลือดหัวใจที่ตีบตัน แล้วเป่าลมให้บอลลูนพองตัว ดันตะกรันท่อเลือดแดง (atheroma) ให้แฟบและทำการขยายหลอดเลือด

***การผ่าตัดบายพาส (bypass surgery หรือ coronary artery bypass grafting/CABG) เป็นการผ่าตัดโดยนำหลอดเลือดจากส่วนอื่น (เช่น หลอดเลือดขา) ไปต่อเชื่อมระหว่างหลอดเลือดหัวใจ (ส่วนที่ยังไม่มีการตีบตัน) กับหลอดเลือดแดงใหญ่